ดูบทความ
ดูบทความอุ้มเขย่าลูก อันตรายกว่าที่คิด
อุ้มเขย่าลูก อันตรายกว่าที่คิด
การเลี้ยงทารกวัยแรกเกิดต้องใจเย็นและระงับอารมณ์ ความเครียด ของตนเองให้ได้ค่ะ วันนี้กระปุกดอทคอมมีเรื่องน่ารู้ การอุ้มเขย่าลูกน้อย อันตรายกว่าที่คุณพ่อคุณแม่คิดค่ะ เพราะสมองของทารกยังบอบบาง อาจทำให้เลือดออกในเส้นประสาทตา เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการพิการ หรือเสียชีวิต ได้ค่ะ ดังนั้นเรามาเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจในการดูแลลูกน้อยกับนิตยสาร บันทึกคุณแม่ กันค่ะ ...
อีกหนึ่งในเรื่องน่าเศร้าสลดที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก... นั่นก็คือ...การอุ้มเด็กทารกเขย่า (Shaken Baby Syndrome) กระทั่งเด็กบาดเจ็บ พิการ ตาบอด ปัญญาอ่อน หรือเสียชีวิต จะด้วยเพราะทนเสียงร้องของเด็กทารกไม่ไหว หรือเพราะกังวลเครียดจัดเวลาเด็กร้องแล้วไม่รู้สาเหตุ และทำให้หยุดร้องไม่ได้ บวกกับปัญหาความเครียดในครอบครัว ทารกจึงโดนอุ้มขึ้นมาด้วยอารมณ์กลัว เครียด หรือโกรธ และเขย่าไป ๆ มา ๆ เพื่อให้เงียบ โดยคาดไม่ถึงว่าการอุ้มเขย่าที่คิดว่าไม่รุนแรงนั้นกลับเป็นการกระทำที่รุนแรงสำหรับทารกที่กล้ามเนื้อคอยังไม่แข็งแรง
การเขย่าลูกน้อย ... ในลักษณะยกตัวเด็กด้วยมือสองข้างแล้วกระชากตัวเด็กไปกลับอย่างรวดเร็ว ศีรษะเด็กก็จะถูกกระชากไปมาเช่นกัน (Violently Shaken) สมองก้อนน้อยของทารกที่อยู่ภายในศีรษะก็จะแกว่งไปแกว่งมา โดนกระทบกระแทกกับกะโหลกศีรษะซ้ำแล้วซ้ำอีก (สมองของเด็กแบเบาะมีส่วนที่เป็นน้ำมากกว่าส่วนที่เป็นเนื้อสมอง) เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการตาบอด เพราะมีเลือดออกในเส้นประสาทตา เสี่ยงอย่างยิ่งต่อการพิการ หรือเสียชีวิต เพราะเส้นใยในสมองที่เชื่อมโยงเซลล์ประสาทเป็นร่างแหทั่วสมองมีการฉีกขาดแบบกระจายทั่วไป เลือดออกในสมองเพราะเส้นเลือดที่ต่อออกจากเนื้อสมองไปยังเยื่อหุ้มสมองฉีกขาด สมองบวม ยิ่งเขย่าเด็กบนเบาะฟูกที่นอนทำให้ศีรษะเด็กกระแทกกับฟูก ยิ่งเพิ่มอันตรายต่อสมองของเด็กมากขึ้น และที่น่าเป็นห่วงก็คือ เด็กโดนเขย่ารุนแรงที่มองจากภายนอกไม่เห็นร่องรอยการบาดเจ็บแล้วไม่ได้รีบส่งมารักษา (อาจมีอาการอาเจียน หายใจลำบาก หรือแค่ซึม ๆ ไป)
แม้สถิติของอาการ Shaken Baby Syndrome ในบ้านเรายังไม่มีการรวบรวมอย่างชัดเจน แต่สหรัฐอเมริกามีรายงาน และสถิติเด็กถูกทำร้ายร่างกายด้วยการเขย่าเด็กอย่างรุนแรง (Shaken Baby Syndrome) ราวปีละ 1,200 - 1,600 คน โดยเด็กจำนวน 1 ใน 3 คน มักจะเสียชีวิต หรือพิการอย่างถาวร จึงเป็นเรื่องน่าตระหนกที่ควรตระหนักอย่างยิ่ง !!!
ปัจจัยด้านเด็ก... มักพบว่าการเขย่าเด็กจะเกิดในเด็กที่ร้องง่าย ร้องไม่หยุด การที่เด็กร้องไม่หยุดมีหลายสาเหตุ อาจเป็นตามธรรมชาติ ไม่ทราบสาเหตุ หรืออาจเป็นจากเพราะเขากำลังไม่สบาย มีอาการเจ็บป่วย เป็นไข้ ปวดหัว ปวดตัว ปวดท้อง ท้องผูก ปวดหูมีแมลงเข้าหู เป็นต้น แต่ทารกพูดไม่ได้ ถ้าไม่แน่ใจต้องพาไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาครับ ถ้าพ่อแม่ หรือผู้ที่เลี้ยงเด็กเกิดอาการหงุดหงิด กลัว โกรธที่ลูกร้องไห้ไม่หยุดสักที ต้องพักสงบสติทันที มิฉะนั้นลูกน้อยอาจกลายเป็นเหยื่อระบายอารมณ์อย่างที่เราเองก็คาดไม่ถึง
การตั้งสติเป็นเรื่องสำคัญ เช่น หายใจเข้าออกลึก ๆ นับ 1 - 10 เดินออกมานอกห้องให้เด็กร้องอยู่ในห้องที่ปลอดภัยคนเดียว เรียกหาคนใกล้ชิดอื่นมาปลอบเด็กแทน หลบจากการสงบสติอารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงกลับเข้าไปดูเด็กอีกที ในบ้านเรามักพบผู้ป่วยในช่วงสามเดือนแรกซึ่งมีอาการร้อง "โคลิก" คือการร้องไม่ทราบสาเหตุของเด็กทารกในวัยไม่เกิน 3 - 4 เดือน อาจมีความเกี่ยวข้องกับความกังวลของพ่อแม่ หรือเป็นกลุ่มเด็กเลี้ยงยาก (difficufty child) เด็กมักร้องชนิดแผดเสียง ขาเกร็งไขว้ คล้ายปวดท้อง ร้องต่อเนื่องนานกว่า 1 - 3 ชั่วโมง เป็นเหตุให้ผู้เลี้ยงดูมีความกังวล เครียด จนอาจก่อให้เกิดอารมณ์โกรธจนไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และจับเด็กเขย่าอย่างรุนแรงเพื่อให้เด็กหยุดร้อง นอกจากโคลิกแล้ว ยังพบกรณีตัวอย่างที่ทำให้เด็กร้องมากจนพ่อแม่ทนไม่ไหว อาจเกิดได้ในวันแรกภายหลังการฉีดวัคซีนไอกรน ซึ่งเด็กจะมีไข้ร้องกวนมาก หนึ่งถึงสองวันแรกของการเป็นไข้สูงจากเชื้อไวรัส หรือการติดเชื้ออื่น ๆ
สำหรับปัจจัยด้านผู้ดูแลนั้น การเขย่าตัวเด็กมักเกิดขึ้นในครอบครัวที่พ่อแม่อายุน้อย ขาดวุฒิภาวะ มีปัญหาเศรษฐกิจ ขาดความช่วยเหลือทั้งจากเพื่อนบ้าน หรือญาติมิตร มีปัญหาความเครียดอื่น ๆ เช่น การทะเลาะเบาะแว้งในครอบครัว แต่ขณะเดียวกันยังพบว่าเกิดขึ้นในพ่อแม่ที่มีฐานะดี มีการศึกษาทั่ว ๆ ไปที่เป็นคนที่มีบุคลิกโกรธง่าย ควบคุมอารมณ์ไม่ดี หรือมีวุฒิภาวะต่ำ ซึ่งเด็ก ๆ ลูกคนมีฐานะในบ้านเรา ปัจจุบันถูกเลี้ยงมาแบบนี้เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเติบโตมาเป็นนักธุรกิจหญิง เจ้าของบริษัทใหญ่โต แพทย์หญิงผู้เชี่ยวชาญ หรือสถาปัตยกรหญิงชื่อดัง ก็ไม่วายที่จะเขย่าลูกจนเสียชีวิตหรือพิการไม่ต่างไปจากแม่วัยรุ่นที่แอบลักลอบตั้งครรภ์จนต้องเลิกเรียน และหนีจากบ้านมาอาศัยอยู่กับแฟน ซึ่งไม่มีอาชีพเป็นหลักแหล่ง รวมทั้งติดเหล้าจนงอมแงม คนเลี้ยงที่เป็นคนวู่วามฉุนเฉียวง่าย ควบคุมความโกรธไม่ค่อยได้ ดังนั้นหากจะจ้างพี่เลี้ยง นอกจากจะรู้จักพ่อแม่พี่น้อง ที่อยู่ของเขา ก็ยังจะต้องรู้ประวัติความเป็นมา พื้นฐานนิสัยอารมณ์ นั่นรวมถึงญาติพี่น้องที่จะมาช่วยดูแลลูกน้อย
คู่สามี - ภรรยา... ซึ่งวันหนึ่งจะต้องเป็นพ่อเป็นแม่ ควรอย่างยิ่งที่จะต้องมีความพร้อม ถ้ายังไม่พร้อมต้องรู้จักการคุมกำเนิดให้ดี เมื่อพร้อมแล้วต้องศึกษาถึงธรรมชาติ พัฒนาการของเด็กแต่ละวัย ถือเป็นการเตรียมความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจในการดูแลลูก ทั้งพ่อ และแม่ต้องรู้จักให้กำลังใจกัน ช่วยกันเลี้ยงดู อย่าปล่อยให้เป็นภาระของคนใดคนหนึ่ง หากเป็นไปได้ การมีผู้ช่วยเลี้ยงลูกวัยทารก (ไม่ว่าจะเป็นญาติ หรือพี่เลี้ยงที่เลือกสรรแล้วว่าปลอดภัยสำหรับเด็ก) ก็คงช่วยผ่อนแรง และลดภาวะความเครียดลงไปได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก บันทึกคุณแม่
25 พฤศจิกายน 2558
ผู้ชม 1987 ครั้ง