shopup.com

 

สถิติ

10456627

ดูบทความเคล็ดลับ ท่าอุ้มกระตุ้นน้ำนม

เคล็ดลับ ท่าอุ้มกระตุ้นน้ำนม

 

ฉบับนี้มีความรู้ดีๆ จากเวทีเสวนา “นมแม่คาเฟ่” ที่รพ.ราชวิถี มาฝากคุณแม่มือใหม่ทั้งหลายที่ตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แต่ก็ไม่แน่ใจว่า อุ้มลูกดูดนมถูกวิธีหรือไม่ เพราะนอกจากการอุ้มลูกที่ถูกวิธีจะช่วยให้ลูกน้อยได้รับน้ำนมแม่อย่างเต็มที่แล้ว ยังเป็นการกระตุ้นวงจรการสร้างน้ำนมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคุณแม่ไม่ต้องทรมานกับอาการหัวนมแตกอีกด้วยค่ะ

ก่อนอื่น อยากให้คุณแม่ทำความเข้าใจกระบวนการสร้างน้ำนมกันสักเล็กน้อย แพทย์หญิงรัชดา เกษมทรัพย์ กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า กระบวนการสร้างน้ำนมของคุณแม่จะเริ่มตั้งแต่ 3 เดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์แล้วค่ะ ดังนั้นคุณแม่ทุกคนจึงมีน้ำนมเตรียมพร้อมอยู่ในเต้าอย่างเท่าเทียมกัน เพียงแต่ว่าน้ำนมยังไม่หลั่งออกมาเท่านั้น กระทั่งเมื่อคุณแม่คลอดลูกน้อยออกมา กระบวนการผลิตน้ำนมยังคงดำเนินต่อไปแต่ต้องอาศัยการดูดกระตุ้นของลูกน้อยเข้ามาช่วย เพื่อให้น้ำนมที่มีอยู่เต็มเต้าได้ระบายออกมาและร่างกายก็จะสร้างน้ำนมขึ้นมาแทนที่อย่างต่อเนื่องค่ะ อ้อ..แต่ก็ต้องเป็นการดูดกระตุ้นอย่างถูกวิธีด้วยนะคะ

วิธีดูดกระตุ้นที่ดีที่สุด คือดูดให้เร็วที่สุด ภายใน 1 ชั่วโมงหลังคลอด หรืออย่างน้อยๆก็ควรให้ลูกได้ดูดกระตุ้นภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอดก็ยังดีค่ะ เพราะเป็นช่วงที่ลูกจะได้รับ หัวน้ำนม ซึ่งไม่ใช่แค่สารอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานให้ลูกน้อยเท่านั้น แต่ยังมีสเต็มเซลล์ที่จะช่วยเสริมสร้างเซลล์ต่างๆ ในร่างกายของลูกด้วย

                                                                                   

วิธีอุ้มลูกน้อยดูดกระตุ้นน้ำนมแม่

โดยทั่วไปท่าให้นมแม่จะมีอยู่ 4 ท่าหลักๆ คือ ท่านั่งอุ้มลูกแนบอก ท่านั่งและอุ้มลูกแนบอกแบบสลับแขน ท่านั่งแบบอุ้มด้านข้างแนบอก และท่านอนตะแคง ซึ่งแต่ละท่านี้มีจุดร่วมเดียวกัน คือ

  • ศีรษะกับลำตัวลูกต้องเป็นแนวเดียวกัน
  • ลำตัวลูกอยู่ในลักษณะตะแคงเข้าหาแม่ (หรือแม่ตะแคงหาลูกในท่านอน) โดยพุงของลูกชิดติดกับพุ่งของแม่
  • ลูกอ้าปากกว้าง งับมิดลานนม โดยคุณแม่อาจใช้นิ้วเขี่ยที่ข้างแก้มให้ลูกอ้าปากแล้วค่อยๆ สอดหัวนมเข้าไป
  • ให้ลูกงับหัวนมจนมิดถึงลานนม สังเกตว่าเวลาลูกดูดนมคางลูกต้องอยู่ชิดเต้านมแม่ จมูกเชิดขึ้น
  • ลูกดูดนมได้แรง กลืนเป็นจังหวะ และมีการสลับหยุดเป็นพักๆ
  • คุณแม่ไม่รู้สึกเจ็บหัวนมเวลาที่ลูกดูด

           

ในช่วง 3-5 วันหลังคลอดเป็นช่วงที่คุณแม่ต้องใจแข็งอดทนนิดหนึ่งนะคะ เพราะแต่ละคนน้ำนมจะระบายออกมาเร็วช้าต่างกัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของคุณแม่ที่อาจจะยังอ่อนเพลียจากการคลอด การดูดกระตุ้นที่ถูกวิธี รวมทั้งโอกาสที่จะได้ให้ลูกดูดกระตุ้นน้ำนมบ่อยๆ ซึ่งในช่วงที่ให้นมลูกนี้ คุณแม่ควรทำจิตใจให้สบาย และดื่มน้ำอุ่นมากๆ ยามลูกหลับก็ต้องรีบพักผ่อนให้เพียงพอเพื่อร่างกายจะได้ฟื้นตัวเร็ว

 

เมื่อร่างกายแข็งแรงและจิตใจปลอดโปร่งโล่งสบาย ไม่ช้าไม่นานน้ำนมก็จะไหลมาเทมาให้ลูกน้อยได้แน่ๆค่ะ

           

มาเช็กกันหน่อย…ลูกดูดนมแม่ถูกวิธีหรือยังo    ศีรษะกับลำตัวลูกเป็นแนวเดียวกัน

 

o    ลำตัวลูกอยู่ในลักษณะตะแคงเข้าหาแม่ พุงชิดติดกัน

o    ลูกอ้าปากกว้าง งับมิดลานนม

o    คางลูกอยู่ชิดเต้านมแม่ จมูกเชิดขึ้น

o    ลูกดูดนมได้แรง กลืนเป็นจังหวะ สลับหยุดเป็นพักๆ

o    แม่ไม่เจ็บหัวนมเวลาที่ลูกดูด

 

 

เรื่อง : มูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย
จากคอลัมน์ : เพราะทรงนำ  ฉบับมกราคม 2015
ภาพ : Shutterstock

 credit realparents

25 พฤศจิกายน 2558

ผู้ชม 1403 ครั้ง

Engine by shopup.com