ดูบทความ
ดูบทความ10 เคล็ดลับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ครบปี
10 เคล็ดลับเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ครบปี
๑๐ เคล็ดลับในการให้ลูกกินนมจากอกแม่ได้ครบหนึ่งปี
โดย คริสทีน ฟอสเตอร์, เมาน์เทนวิว แคลิฟอร์เนีย
จาก NEW BEGINNINGS, เล่มที่ ๒๓ ฉบับที่ ๑, มกราคม-กุมภาพันธ์ ๒๐๐๖, หน้า ๔-๘
ถึงแม้สมาคมกุมารเวชศาสตร์สหรัฐอเมริกาและองค์กรทางการแพทย์อื่นๆ จะให้คำแนะนำไว้อย่างชัดเจนว่า ทารกควรจะได้กินนมจากอกแม่จนกระทั่งอายุครบ ๑ ขวบ แต่มีแม่และทารกจำนวนไม่มากที่สามารถทำได้สำเร็จ แม้ว่าแม่ลูกอ่อนในสหรัฐอเมริกามากกว่า ๗๐% จะให้ลูกกินนมจากอกแม่ตอนแรกคลอด แต่มีเพียง ๑๖% เท่านั้นที่ยังคงให้ลูกกินนมจากอกแม่ตอนอายุ ๑ ขวบ เหตุผลที่คุณแม่จำนวนมากไม่สามารถทำได้สำเร็จตามเป้าหมายเป็นเรื่องซับซ้อน อาจเป็นเพราะสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัวไม่ได้ช่วยส่งเสริมการให้ลูกกินนมจากอกแม่มากพอ
การมีทางเลือกอื่นที่ง่ายกว่าเวลาเกิดปัญหาหรือความลำบากในการให้นม และการขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสุขภาพของเด็กกินนมแม่ซึ่งจะแตกต่างจากเด็กกินนมขวดอย่างมหาศาล และเหตุผลอื่นๆ แต่คุณแม่ที่ตั้งใจจริงส่วนใหญ่จะสามารถให้ลูกกินนมจากอกแม่ได้จนครบปีหรือนานกว่านั้น บทความนี้จะให้คำแนะนำและเคล็ดลับที่จะทำให้คุณแม่ไปถึงเป้าหมายได้
๑. ขอความช่วยเหลือ
ถึงแม้คุณแม่ส่วนใหญ่จะได้เริ่มให้ลูกกินนมแม่จากอกแม่หลังคลอด แต่คุณแม่ส่วนใหญ่มักจะไม่เคยมีประสบการณ์ตรงในการให้นมลูกมาก่อน ความเปลี่ยนแปลงที่คุณแม่มือใหม่ต้องเผชิญหลังคลอดบุตรเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดา และบ่อยครั้งก็น่าประหลาดใจ หลักการทางทฤษฎีในการวางแผนให้ลูกกินนมจากอกแม่อาจจะแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการให้นมลูกในทางปฏิบัติ ดังนั้นการได้รับความช่วยเหลือจากผู้มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการให้ลูกกินนมจากอกแม่จะช่วยให้คุณแม่รู้สึกสบายใจและมั่นใจมากขึ้น
หนึ่งในวิธีที่ง่ายที่สุดในการขอความช่วยเหลือ คือการเข้าร่วมประชุม LLL* ในระหว่างตั้งครรภ์ ผู้นำที่มีประสบการณ์ตั้งข้อสังเกตว่าคุณแม่ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของ LLL ก่อนทารกคลอดมักจะประสบปัญหาเกี่ยวกับการให้นมลูกน้อยกว่า เพราะพวกเขามีความรู้เกี่ยวกับธรรมชาติของการให้ลูกกินนมจากอกแม่มากกว่า และถ้าพวกเขาเจอปัญหาหรือเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด คุณแม่ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมของ LLL แล้ว ก็มักจะไม่ลังเลใจที่จะโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือผู้นำ LLL ที่พวกเขารู้จัก
การให้สมาชิกในครอบครัวและเพื่อนๆ ได้รับรู้เกี่ยวกับเป้าหมายของการให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคุณก็อาจจะช่วยได้มาก ตอนที่ยูนิที ดีนส์เริ่มตั้งครรภ์ลูกแฝด เธอเขียนรายการเหตุผลต่างๆ อธิบายว่าทำไมลูกทั้งสองของเธอจำเป็นต้องได้กินนมแม่ เพื่อทำให้ คลี สามีของเธอเข้าใจถึงเป้าหมายในการให้ลูกกินนมจากอกแม่ของเธอ การเตรียมการล่วงหน้าของยูนิทีมีความหมายมาก เพราะตอนที่พวกเขาประสบกับปัญหาในช่วงสัปดาห์แรกๆ เธอได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากสามี “เขารู้สึกประหลาดใจมากที่มีเหตุผลมากมายขนาดนั้น” เธอกล่าว
๒. หัดให้ลูกกินนมจากอกนมแม่ในที่สาธารณะ
การฝึกหัดที่จะให้ลูกกินนมจากอกแม่ในที่สาธารณะอาจจะเป็นเรื่องลำบากมาก โดยเฉพาะในชุมชนที่การให้ลูกกินนมจากอกแม่ไม่ใช่เรื่องปกติ ผู้หญิงที่รู้สึกไม่มั่นใจที่จะให้นมลูกในที่สาธารณะมักจะมีปัญหาในการให้ลูกกินนมจากอกแม่จนถึงหนึ่งปีหรือนานกว่านั้น ถ้าคุณแม่ไม่ต้องการให้นมลูกในที่สาธารณะ ก็ควรจะต้องลดกิจกรรมนอกบ้านลง หรือจะต้องปั๊มนมออกมาเก็บไว้เพื่อให้ลูกกินนมจากขวด ทั้งสองวิธีอาจจะเป็นเรื่องน่าอึดอัดและจำกัดสายสัมพันธ์ของการให้ลูกกินนมจากอกแม่
คุณแม่บางคนรู้สึกว่าเสื้อให้นมมีประโยชน์มากเวลาให้นมลูกในที่สาธารณะ ในขณะที่บางคนก็รู้สึกว่าการให้นมลูกโดยการเปิดเสื้อขึ้นจากด้านล่างและจับให้ทารกบังผิวหนังที่เปิดเผยก็สะดวกพอๆ กัน คุณแม่จำนวนมากเพิ่มความมั่นใจโดยการหัดให้นมในที่ที่ตนเองเคยชิน (เช่น ในการประชุม LLL) หรือฝึกหัดหน้ากระจกเพื่อดูว่าสิ่งที่คนอื่นเห็นเป็นอย่างไร บางครั้งการมีคนสนิทไปเป็นเพื่อนในการออกนอกบ้านช่วงแรกๆ อาจะช่วยให้คุณแม่รู้สึกมั่นใจมากขึ้น “ถึงแม้คนจะรู้ว่าเรากำลังให้นมลูก แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่” ยูนิทีกล่าว “พยายามสร้างความรู้สึกแบบนั้นขึ้นมา ว่าคุณกำลังให้นมลูก คุณกำลังทำให้ลูกสบายใจ นั่นคือหน้าที่ของเต้านมของคุณ”
บ่อยครั้งคุณแม่ก็อาจจะได้รับกำลังใจสำหรับความสัมพันธ์ของการให้ลูกกินนมจากอกแม่จากคนแปลกหน้าที่ได้เห็นเธอให้นมลูก ดอว์น เบิร์ค ผู้นำ LLL ในรัฐจอร์เจียเล่าว่า “ฉันรู้สึกไม่มั่นใจกับการให้นมลูกในที่สาธารณะตอนมีลูกคนแรก” ตอนที่ลูกของเธออายุประมาณ ๘ เดือน พวกเขาไปตลาดนัดที่ขายผักผลไม้ด้วยกัน ลูกของเธออยากกินนมแม่เต็มที่ ดอว์นหาจุดที่ค่อนข้างปลอดคน ตรงลังใส่นมใกล้ๆ กับที่พักพนักงานและคนทั่วไป เธอนั่งลงให้นมลูก พนักงานชายสูงอายุคนหนึ่งเดินเข้ามาและกล่าวชมการให้นมลูกของเธอเสียงดัง “ดีจังที่เห็นคุณให้ลูกกินนมแม่” ดอว์นเล่าว่าเขาพูดว่า “ผมมาจากประเทศอินเดีย” เขาบอกต่อไปว่า“และที่นั่นการให้ลูกกินนมจากอกแม่เป็นเรื่องสำคัญมาก คุณให้ลูกกินนมแม่ต่อไปนะ มันดีมากๆ” ตอนนนี้ดอว์นกล่าวว่า “ฉันบอกคุณแม่ทั้งหลายให้รับความช่วยเหลือและกำลังใจจากทุกที่ที่หาได้”
๓. หลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมและจุกนมเทียม
มีทารกบางคนสามารถใช้ขวดนมและจุกนมเทียมและยังสามารถกินนมจากอกแม่ต่อเนื่องได้จนถึง ๑ ขวบ แต่หนังสือ “THE BREASTFEEDING ANSWER BOOK” ระบุว่าการตอบสนองความต้องการในการดูดของทารกด้วยสิ่งอื่นนอกเหนือจากเต้านมมีโอกาสทำให้เกิดการหย่านมเร็วกว่าที่ควร การใช้จุกนมยางในช่วงสัปดาห์แรกๆ สามารถรบกวนความสามารถของทารกในการดูดนมจากอกแม่
LLL แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้จุกนมยางในช่วงสัปดาห์แรกๆ ซึ่งอาจจะทำให้คุณแม่รู้สึกสับสนกับคำแนะนำจากสถาบันกุมารเวชศาสตร์แห่งสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่าทารกควรจะนอนหลับไปพร้อมกับจุกนมเทียมเพื่อช่วยลดความเสี่ยงของโรคไหลตายในเด็ก (Sudden Infant Death Syndrome หรือ SIDS) LLL เชื่อว่าคำแนะนำนี้ไม่ได้พิจารณาหลักการสำคัญเกี่ยวกับการกินนมจากอกแม่ และจะเกิดผลเสียต่อพัฒนาการของความสัมพันธ์ในการกินนมจากอกแม่ในระยะยาว ประกาศที่ออกโดย LLL ระบุว่า
จุกนมเทียมคือสารสังเคราะห์ที่นำมาทดแทนสิ่งที่เต้านมทำได้โดยธรรมชาติ ทารกที่กินนมจากอกแม่มักจะกินนมจนหลับไปทั้งตอนนอนกลางวันและตอนกลางคืน การใช้จุกนมเทียมตามที่สถาบันกุมารเวชศาสตร์แนะนำอาจจะทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงเนื่องจากเต้านมได้รับการกระตุ้นน้อยลง และอาจจะมีผลต่อระยะเวลาของการรให้ลูกกินนมจากอกแม่
อีกนัยหนึ่งก็คือ ถ้าจุกนมเทียมเป็นสิ่งที่ดีสำหรับทารก ทำไมถึงไม่ใช้สิ่งที่ดีที่สุด ซึ่งก็คือ เต้านม นั่นเอง
๔. หาวิธีให้คุณพ่อได้มีส่วนร่วม
หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คุณแม่มือใหม่ตัดสินใจปั๊มนมใส่ขวดให้ลูกกินแทนการให้กินจากอกแม่ก็คือ พวกเขาอยากให้คุณพ่อได้มีส่วนร่วมในการให้นมลูกโดยใช้ขวดด้วย แต่การให้นมโดยใช้ขวดบ่อยๆ อาจนำไปสู่การหย่านมเร็วกว่าที่ควร ดังนั้นการหาวิธีอื่นที่คุณพ่อจะสามารถเชื่อมโยงกับทารกได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ หลายครอบครัวใช้การอาบน้ำหรือนวดตัวให้ทารกเป็นโอกาสพิเศษที่จะสร้างความผูกพันระหว่างพ่อกับลูก เพราะทารกมีโอกาสสัมผัสเนื้อแนบเนื้อกับพ่อและทำให้เขารู้สึกสบาย
ซินดี้ โฮเวิร์ด ผู้นำ LLL ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เล่าว่าสามีของเธอไม่ชอบให้ลูกสาวกินนมจากขวด เพราะลูกๆ จะทำท่าเหมือนกับว่าพวกเขาไม่ได้รับสิ่งที่ดีที่สุด ตอนที่เกว็นลูกสาวคนเล็กยังเป็นทารก จอห์นสร้างความผูกพันโดยการนวดเท้าให้เธอในระหว่างที่ภรรยาของเขาเข้าชั้นเรียนออกกำลังกายตอนเช้า
เจนนิเฟอร์ โมควิน ผู้นำ LLL ในรัฐเพนซิลเวเนีย ให้แอนโทนีสามีของเธออยู่กะดึกกับลูกสาวที่ไม่ค่อยยอมนอนตอนกลางคืน เธอจะให้นมลูกและนอนพักซักงีบ ในขณะที่คุณพ่ออุ้มลูกเดินไปเดินมา เปิดเพลงพิเศษให้เธอฟังและชวนให้เธอดูรูปตัวเองที่ติดอยู่ที่ผนัง “เธอสงบและผ่อนคลาย แต่ก็ตาสว่างเต็มที่” เจนนิเฟอร์บอก “มันเป็นเวลาที่ดีมากสำหรับทั้งคู่”
๕. สร้างจังหวะประจำวัน
กำหนดการที่เคร่งครัดอาจทำให้คุณแม่ตอบสนองความต้องการของทารกได้ไม่ดีเท่าที่ควร กำหนดการเหล่านี้ยังอาจทำให้ปริมาณน้ำนมลดลงได้ เพราะเอาน้ำนมออกจากเต้านมได้น้อยครั้งลง คุณแม่อาจรู้สึกสับสนเวลาได้ยินคำพูดว่า ทารก “ควรจะ”ได้กินนมจากอกแม่ ๘–๑๒ ครั้งใน ๒๔ ชั่วโมง หรือทารก “ควร” ได้กินนมจากอกแม่ ๑๐–๑๕ นาที ในขณะที่ลูกของตนเองไม่ได้ทำตามนี้ หนังสือ THE BREASTFEEDING ANSWER BOOK เขียนไว้ว่า “ระยะเวลาในการให้นมลูกจะแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับบุคลิกของทารกและอายุของพวกเขา ลักษณะการกินนมจากอกแม่ของทารกอาจจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยเมื่อเขาโตขึ้น” คุณแม่หลายๆ คนรู้สึกว่าสถานการณ์ดีขึ้นถ้าพวกเขาเลิกสนใจที่จะจ้องดูนาฬิกาและนับจำนวนครั้งที่ลูกกินนม ถ้าลูกของคุณมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเหมาะสม คุณแม่ก็แค่คอยสังเกตดูความต้องการของลูก ก็เพียงพอแล้ว
แต่สำหรับแม่ลูกบางคู่ ตารางเวลาที่ตายตัวก็เป็นเรื่องสำคัญ คุณแม่สามารถจะค่อยๆ กำหนดแบบแผนขึ้นได้โดยกำหนดตารางเป็นเวลาให้ทารก การมีลำดับที่แน่นอนสำหรับกิจกรรมในแต่ละวัน เช่น การอาบน้ำ ไปเดินเล่น อ่านหนังสือ จะช่วยให้ทารกและคุณแม่หาจังหวะที่เหมาะสมกับตัวเองได้ ทารกบางคนอาจจะไม่ยอมรับการให้กินนมจากอกแม่เป็นเวลาเมื่อเขาโตขึ้น ในขณะที่เด็กบางคนจะยังคงต้องการกินนมจากอกแม่บ่อยๆ ตลอดทั้งวันอยู่ต่อไป
๖. ให้นมลูกเพื่อปลอบโยน
คุณแม่บางคนกังวลว่าการให้ลูกกินนมจากอกแม่เพื่อช่วยปลอบลูกเวลาที่เขาหงุดหงิดไม่สบายใจจะทำให้ทารกสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์กับอาหารไปในทางที่ไม่เหมาะสม พวกเขากังวลว่าลูกจะใช้อาหารเป็นเครื่องระบายอารมณ์มากว่าจะกินเพื่อตอบสนองความหิวทางกาย พวกเขาอาจจะเชื่อว่าการพยายามแยกอาหารออกจากอารมณ์เป็นเรื่องที่ดีกว่า แต่ถ้าเราซื่อสัตย์กับความรู้สึกของตัวเอง เราจะพบได้ว่า พวกเราทุกคนมีความเชื่อมโยงทางอารมณ์ด้านใดด้านหนึ่งกับอาหารชนิดใดชนิดหนึ่ง ซินดี้ โฮเวิร์ด ผู้ซึงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการให้นมที่มีใบอนุญาตระดับนานาชาติยกตัวอย่างของเค้กวันเกิดว่า ขนมเค้กแทบจะไม่มีคุณค่าทางอาหารใดๆ ที่เป็นประโยชน์ แต่องค์ประกอบทางอารมณ์ที่ได้จากการฉลองร่วมกับคนอื่นต่างหาก ที่เป็นคุณค่าของเค้กวันเกิด
เวลาที่คุณให้ลูกกินนมจากอกเพื่อปลอบโยนลูก คุณกำลังกระตุ้นให้เขาหันมาหาคุณเวลาที่เขารู้สึกไม่สบายใจ แทนที่จะหันไปหาสิ่งของที่ไม่ใช่มนุษย์ การได้ติดต่อกับมนุษย์มีความสำคัญมากกว่าน้ำนม นอกจากนี้การให้ลูกกินนมจากอกแม่ยังช่วยให้ปริมาณน้ำนมไม่ลดลง และช่วยกระตุ้นเตือนทารกว่า เขาจะสามารถทำให้ตัวเองรู้สึกดีขึ้นได้โดยการกินนมจากอกแม่
๗. รับรู้สัญญาณของการอดนมประท้วง (Nursing Strike)
มีบางช่วงเวลาที่ทารกจะรู้สึกอยากกินนมจากอกแม่มากขึ้นหรือน้อยลง แต่ไม่ใช่เรื่องปกติที่ทารกจะอยากหย่านมก่อนอายุ ๑ ขวบ มันไม่ใช่เรื่องแปลกที่คุณแม่บางคนจะคิดว่าลูกน้อยของเธอกำลังจะ “หย่านม” แต่ความจริงทารกกำลัง “อดนมประท้วง”(Nursing Strike) หรือกำลังมีพัฒนาการด้านอื่นๆ อย่างมากจนทำให้พวกเขารู้สึกสนใจที่จะกินนมจากอกแม่น้อยลง หนังสือ THE BREASTFEEDING ANSWER BOOK กล่าวไว้ว่าการอดนมประท้วงมักจะพบได้บ่อยในทารกช่วงอายุ ๓-๘ เดือน
กุญแจสำคัญที่จะหลีกเลียงการหย่านมโดยไม่ตั้งใจคือการรับรู้และจัดการกับการอดนมประท้วงอย่างเหมาะสม มอลลี่ รีเมอร์ ผู้นำLLL ในรัฐมิสซูรี บอกว่าตอนที่แลนน์อายุ ๕ เดือน เขาไม่ยอมกินนมจากอกแม่ตอนที่เขาตื่นเป็นเวลา ๑ สัปดาห์ เพราะเขาเป็นหวัด เขาหงุดหงิดและอึดอัดมากเพราะคัดจมูก เขาหายใจไม่สะดวกเวลากินนมจากอกแม่ เขาจึงปฏิเสธการกินนมจากอกแม่โดยสิ้นเชิง มอลลีให้แลนน์กินนมจากอกแม่วลาที่เขานอน และทดลองวิธีต่างๆ เพื่อทำให้เขากลับมายอมกินนมตอนกลางวัน การให้กินนมในระหว่างที่มีการเคลื่อนไหวช่วยได้มาก ดังนั้นมอลลี่จึงให้นมในระหว่างที่อุ้มเขาเดินไปมา ตอนนี้แลนน์อายุสองขวบแล้วและยังกินนมจากอกแม่เป็นประจำ
อีกช่วงเวลาหนึ่งที่จะดูคล้ายกับการหย่านมแต่ไม่ใช่ คือช่วงประมาณ ๖ เดือน ตอนที่ทารกเริ่มจะเคลื่อนไหวเองได้และเริ่มรู้จักสิ่งแวดล้อมรอบๆ ตัวมากขึ้น บางสิ่งอาจจะดึงดูดความสนใจของพวกเขาไปจากการกินนมจากอกแม่ คุณแม่บางคนพบว่าการให้ลูกกินนมถี่ขึ้น พาเขาเข้าไปให้นมในห้องมืดๆ หรืออาศัยช่วงเวลาตอนกลางคืนในการให้นมลูก จะช่วยให้พวกเขาผ่านปัญหาช่วงนี้ไปได้ บ่อยครั้งที่ทารกปฏิเสธการกินนมจากอกแม่ เพราะมีสิ่งที่ทำให้เขาไม่สบายใจเกิดขึ้น เช่น การป่วย ฟันขึ้น หรือการเปลี่ยนแปลงในครอบครัว เช่น การย้ายบ้าน หรือบางครั้งทารกก็อาจจะอยากหย่านมก่อนอายุ ๑ ขวบ แต่มักจะเกิดขึ้นไม่บ่อย ประโยชน์ของการให้ลูกกินนมจากอกแม่ต่อสุขภาพของทารกมีความสำคัญมาก มันจึงคุ้มค่าที่จะพยายามทำให้ทารกไม่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การหยุดกินนมจากอกแม่โดยสิ้นเชิง
๘. ค่อยๆ จัดการไปทีละวัน
คุณแม่บางคนเป็นนักวางแผน พวกเขาต้องการตัดสินใจว่าทารกควรจะกินนมจากอกแม่นานเท่าไรตั้งแต่ทารกยังไม่คลอด พวกเขาคิดว่า “ฉันไม่ต้องการให้ลูกกินนมจากอกแม่จนถึง ๓ ขวบ ดังนั้นฉันจะต้องให้ลูกหย่านมตอนนี้” คุณแม่คนอื่นอาจจะวางแผนให้ลูกกินนมจากอกแม่จน ๑ ขวบหรือนานกว่านั้น แต่อาจจะรู้สึกว่ารับมือกับสถานการณ์ไม่ได้ในช่วงแรกๆ จนรู้สึกกลัวว่าจะไม่สามารถทำตามเป้าหมายได้
แทนที่จะตัดสินใจไปล่วงหน้าอย่างเด็ดขาด พยายามค่อยๆ จัดการไปทีละวัน ตอนที่ลูกของคุณเป็นทารกแรกคลอด ภาพของการต้องให้นมลูกวัย ๑๒ เดือนตัวใหญ่เบิ้มอาจจะน่าหวั่นใจ แต่เมื่อคุณแม่ช่วยลูกเป่าเค้กวันเกิดฉลอง ๑ ขวบ คุณจะเห็นว่าลูกของคุณก็ไม่ได้ตัวโตขนาดนั้น
เอเรียล วาเลนเซีย คุณแม่จากรัฐแคลิฟอร์เนีย ใช้วิธี “ทีละวัน” เพื่อช่วยให้ตัวเองสามารถให้นมเอย์เรนลูกชายเธอต่อไปได้ เอเรียลทำงานนอกบ้าน และรู้สึกว่าการปั๊มนมให้พอกับที่ลูกต้องการในระหว่างที่เธอไม่อยู่บ้านเป็นเรื่องยากลำบากมาก เธอตั้งเป้าหมายไว้ทีละ ๒ สัปดาห์ และสามารถทำได้สำเร็จนานถึง ๕ เดือน
๙. อย่าคิดว่าการให้ลูกกินนมจากอกแม่เป็น “ต้องให้ตลอด-ต้องหยุดตลอด”
บางครั้งคุณแม่อาจจะให้ลูกกินนมผสม เพื่อแก้ปัญหาปริมาณน้ำนมไม่พอในระหว่างที่คุณแม่ไปทำงาน หรือกรณีที่คุณแม่เลือกจะไม่ปั๊มนมเก็บไว้ใช้ตอนไม่ได้อยู่กับลูก
จูลี เนลสัน คุณแม่จากรัฐนิวยอร์กให้นิโคลัสกินนมผสมตอนเขาอายุ ๙ เดือน เพราะเธอไม่สามารถปั๊มนมได้พอกับความต้องการของเขาในระหว่างที่เธอไปทำงาน แต่เธอก็ยังคงให้ลูกกินนมจากอกแม่ต่อไปในตอนเย็นและช่วงสุดสัปดาห์ และนิโคลัสได้กินนมจากอกแม่ต่อไปจนเขาอายุ ๑ ขวบ
๑๐. มีความสุขกับช่วงเวลาสำคัญ
จำไว้ว่ามันเป็นเรื่องธรรมดาที่จะหลงรักการให้ลูกกินนมจากอกแม่ ยูนิที ดีนส์กล่าวว่า “คุณจะต้องใช้หัวใจ, ไม่ใช่สมอง, ในการที่จะทำให้คุณสามารถทำต่อเนื่องต่อไปได้” การที่หัวใจคุณหลงรักการให้ลูกกินนมจากอกแม่เป็นเรื่องสำคัญ ยูนิทีแนะนำว่าคุณแม่ควรจะ
- พยายามทำให้การให้ลูกกินนมจากอกแม่ไม่มีความเจ็บปวด คุณไม่สามารถจะหลงรักสิ่งที่สร้างความเจ็บปวด
- หลีกเลี่ยงสิ่งขวางกั้นระหว่างคุณกับลูก ซึ่งรวมไปถึงแผ่นรองหัวนมหรือขวดที่ใส่นมที่ปั๊มออกมา เวลาที่มีอะไรขวางกั้นระหว่างคุณกับลูก มันจะทำให้สถานการณ์ยากขึ้น
- โอบกอดลูกของคุณไว้ ลูดกลิ่นหอมจากตัวลูก มองดูน้ำนมที่ร่างกายของคุณผลิตหยดไหลจากมุมปากของลูก การหลงรักต้องการทุกประสาทสัมผัส
ถ้าคุณแม่ซาบซึ้งกับการให้ลูกกินนมจากอกแม่ มันจะเป็นเรื่องง่ายที่จะให้นมลูกตลอด ๑ ปีหรือนานกว่านั้น นั่นคือ “เคล็ดลับ”ที่แท้จริงของการให้ลูกกินนมจากอกแม่ ถ้าคุณแม่มีความสุขกับการให้ลูกกินนมจากอกแม่หรือมุ่งมั่นกับมันมากๆ คุณแม่จะรู้สึกสบายใจกับการให้นมลูกได้ง่ายกว่า สามารถหาวิธีที่จะให้นมลูกต่อหน้าคนอื่นได้ และพยายามขอความช่วยเหลือเวลาที่จำเป็น
ช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาทองที่จะผ่านไปอย่างรวดเร็ว ในขณะที่คุณแม่กำลังปรับตัวรับประสบการณ์ใหม่ พยายามยอมรับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างที่มันเป็นอยู่ และพยายามมีความสุขกับช่วงเวลาสำคัญนี้
*LLL หรือ La Leche League คือหน่วยงานที่สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะมีการจัดการประชุมอบรมเพื่อให้ความรู้และความช่วยเหลือกับคุณแม่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ สำหรับในประเทศไทย คุณแม่สามารถขอความช่วยเหลือหรือหาความรู้ได้จากศูนย์นมแม่ในโรงพยายาบาลต่างๆ
แปลโดย คุณนิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์
cr web breastfeedingthai
25 พฤศจิกายน 2558
ผู้ชม 1616 ครั้ง